ออฟฟิศซินโดรม โรคที่มาพร้อมกับสไตล์การใช้ชีวิตสำหรับคนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานานจนปวดตา ตาล้า ปวดหัว มึนหัว ปวดไหล่ เชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีอาการเหล่านี้กันอยู่บ้าง แต่มักจะมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นเพียงอาการเหนื่อยล้าธรรมดาจากการทำงานเท่านั้น จนร่างกายหักโหมทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ในบทความนี้จะมาอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้ว่า อาการออฟฟิศซินโดรมจะมีประมาณไหน วิธีรักษาหรือวิธีการป้องกัน มีแบบไหนบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดโรคที่ร้ายแรงตามมาจนรักษาไม่ได้ มาเช็กไปพร้อมกันได้เลย
ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร ใครรู้มาบอกที
ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือ อาการปวดกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งสาเหตุมาจากการที่ร่างกายใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน จนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย ตึง และหากละเลยเป็นระยะนาน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเรื้อรังและกล้ามเนื้ออักเสบได้ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณ คอ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ซึ่งพบเจอได้ในกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศหรือคนที่ทำงานใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เป็นประจำ
อาการแบบนี้เป็น ออฟฟิศซินโดรม หรือเปล่า ?
1. ปวดหัวเรื้อรัง ปวดหัวบ่อย เป็นอาการที่เกิดขึ้นมากกว่า 15 วันต่อเดือน ซึ่งสาเหตุเกิดจากความเครียด ไมเกรน การกินยาแก้ปวดบ่อยครั้งเกินไป รวมถึงการใช้สายตาในการทำงานเป็นเวลานาน เช่น การอ่านหนังสือ อ่านเอกสาร ใช้สายตาในการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
2. ปวดหลัง อาการปวดหลังส่วนบนสาเหตุมาจากการก้มเล่นมือถือนาน ๆ นั่งไม่ถูกท่า นั่งหลังค่อม อาจทำให้กล้ามเนื้อต้นคอ เมื่อย เกร็ง รวมถึงงานที่ต้องยืนนาน ๆ การแบกกระเป๋าหนักเกินไป หรือมักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงบางคนที่ใส่ส้นสูงเป็นประจำ
3. ปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณที่คอ บ่า และไหล่ สาเหตุเกิดจากนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงเป็นประจำ
4. ปวดตึงบริเวณขา หรืออาการเหน็บชาบ่อย ขาไม่มีแรง ซึ่งเกิดจากการนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน นั่งกดทับขาทำให้เส้นเลือดดำบริเวณนั้นถูกกดทับ เลือดไหลเวียนผิดปกติ
5. ปวดตา ตาพร่ามัว เนื่องจากต้องมีการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ หรือใช้สายตาอย่างหนักเป็นเวลานาน แสงบริเวณโต๊ะทำงานไม่เพียงพอ หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมในวันที่ทำงานที่วุ่นวาย ไม่สงบ อาจจะทำให้คุณเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว
6. ปวดแขน มีอาการมือชา นิ้วล็อค ซี่งเกิดจากการพิมพ์เอกสารเป็นระยะเวลานานเกินไป หรือการจับเมาส์ ทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทจนเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นจึงเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อค หรือข้อมือล็อคได้
ผลข้างเคียงหนักจากอาการปวดกล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome)
- เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)
- ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)
- กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow)
- นิ้วล็อก (trigger finger)
- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
- ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)
- หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)
ทำไมฉันถึงปวดไหล่ ปวดหัว
- การบาดเจ็บหรือปวดกล้ามเนื้อเป็นระยะเวลานาน จาการทำงานซ้ำ ๆ เช่น การใช้ข้อมือในการจับเมาส์
- สิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บ เช่น ลักษณะการวางโต๊ะทำงาน
- ท่านั่งการทำงาน (Poster) เช่น นั่งไขว่ห้าง นั่งขัดสมาธิ นั่งหลังงอ หลังค่อม นั่งไม่เต็มก้น นั่งทำงานบนเตียง
อาการออฟฟิศซินโดรมรักษายังไงดี ?
การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ บางคนอาจคิดว่ามีวิธีรักษาแค่การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการปวดเมื่อยเท่านั้น แต่มีอีกหลายวิธีในการรักษาไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยยา การนวดแผนไทย การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน การฝังเข็ม และโบท็อก แต่อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจอาการก่อน ว่ามีภาวะแทรกซ้อนโรคอื่น ๆ อีกไหม เพื่อจะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถดูแลรักษาได้ตามนี้
1. การยืดกล้ามเนื้อด้วยตัวเองง่าย ๆ ไม่ใช้อุปกรณ์
ยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนบน
- ประสานนิ้วมือทั้งสองไว้ข้างหน้า
- เริ่มดันยืดออกไปจนสุดในระดับหัวไหล่ โดยให้ฝ่ามือหันอยู่ด้านนอก
- โดยดันค้างไว้ 10-20 วินาที
- ทำ 2 ครั้ง
ยืดกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่
- เอามือไขว้หลังจับข้อมือไว้
- ก้มหน้าลงหลังจากนั้นเอียงคอไปด้านขวา พร้อมกับดึงมือซ้ายไปทางขวา
- ทำค้างไว้ครั้งละ 10 วินาที
- ทำสลับข้างกันข้างละ 2 ครั้ง ซ้ายขวา
ยืดกล้ามเนื้อต้นแขน
- ยกมือขึ้นประสานกันเหนือหัว
- จากนั้นเหยียดแขนขึ้นจนสุด
- ทำค้างไว้ 10-20 วินาที
- ทำ 2 ครั้ง
ยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง
- ใช้มือทั้งสองข้างดันหลังส่วนล่าง
- จากนั้นดันให้ตัวแอ่นไปด้านหน้า
- ดันค้างไว้ประมาณ 20 วินาที
- ทำประมาณ 2 ครั้ง
2. การรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด
สามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เริ่มด้วยการตรวจประเมินร่างกาย การตรวจโครงสร้างสรีระของร่างกาย หาต้นตอ สาเหตุและวิเคราะห์อาการปวดรวมถึงระยะของอาการ และวางแผนการรักษา ตามผลประเมินความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งสามารถทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด เมื่อย กล้ามเนื้อได้ 3 วิธีด้วยกัน คือ
- การทำกายภาพบำบัดที่บ้าน
- การทำกายภาพบำบัดด้วยมือ
- การทำกายภาพบำบัดด้วยอุปกรณ์
3. การนวดแผนไทย
เป็นการนวดร่างกายเพื่อให้มีการชำระล้างพิษและออกซิเจนที่มากขึ้นก็จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท เพิ่มระดับพลังงานและบำรุงด้านสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย และลดความเสี่ยงจากการเป็น ออฟฟิศซินโดรม
การนวดแผนไทยมีรูปแบบเฉพาะที่เรียกว่า การนวดไทยแบบราชสำนัก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการกดจุดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย โดยงานวิจัยพบว่าการนวดไทยแบบราชสำนักนั้นเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวเรื้อรังได้ และสามารถกระตุ้นการไหลเวียนของระบบเลือดในร่างกายได้จากการยืดส่วนต่าง ๆ รวมถึงช่วยปรับสมดุลโดยรวมของร่างกายได้ดีอีกด้วย
4. การฝังเข็ม
เป็นการใช้เข็มขนาดเล็กมาก ฝังตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย ซึ่งเป็นจุดที่มีความปวดเมื่อย กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล หรือสามารถช่วยบรรเทาความเจ็บปวด และช่วยในการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อได้ดี ซึ่งมีการฝังเข็ม 2 แบบด้วยกัน คือ การฝังเข็มแบบจีน (Acupuncture) และการฝังเข็มแบบตะวันตก (Dry Needling)
5. การรับประทานยา
การทานยาที่ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ อาการมึนหัว ปวดหัว ยาส่วนใหญ่จะมีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อ ในขณะที่ยาบางตัวมีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาทบริเวณไขสันหลังที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อ โดยตัวอย่างยารักษาที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไดอะซีแพม (Diazepam) บาโคลเฟน (Baclofen) แดนโทรลีน (Dantrolene) ทิซานิดีน (Tizanidine) โบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) และสารที่สกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นยาในกลุ่มควบคุม ต้องใช้ภายใต้คำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
6. การฉีดโบท็อก
การทำงานของโบท็อกจะออกฤทธิ์ต่อส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อ เมื่อแพทย์ฉีดเข้าไปยังส่วนที่มีปัญหาสารโบท็อกจะทำให้กล้ามเนื้อที่หดเกร็งมีความแข็ง อ่อนแรง ขยับได้น้อยลงชั่วคราว จนกล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวนิ่มลงในที่สุด หรือสามารถช่วยรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ เช่น บริเวณไหล่
ซึ่งผลลัพธ์ของการฉีดโบท็อกจะอยู่ได้นานประมาณ 4-6 เดือนเลยทีเดียว หลังจากนั้นสารโบท็อกจะสลายตัวไปหมด แต่เราสามารถกลับมาฉีดเพิ่มเพื่อคงผลลัพธ์ให้อยู่นานขึ้น แต่ควรเว้นระยะในการฉีดแต่ละครั้งประมาณ 3-4 เดือน ไม่ฉีดย้ำติดกันเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการดื้อโบท็อก
สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมก่อนฉีดโบท็อกได้ที่นี่
ปวดไหล่ ป้องกันยังไงได้บ้าง ?
1. ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่น ทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง อย่างสม่ำเสมอ
2. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ปรับระดับความสูงของโต๊ะ และเก้าอี้ให้ร่างกายสามารถนั่งทำงานแล้วสบายตัว ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา
3. ควรพักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อให้ร่างกายได้หยุดพักซ่อมแซมส่วนที่เสียหายบ้าง
อ่านกันจนถึงนี่แล้วอย่าลืมเช็กลิสต์กันนะคะ ว่าเราเข้าข่ายโรคออฟฟิศซินโดรมไหม หรืออาการเป็นแบบไหน ก็คงเข้าใจมากขึ้นแล้ว หากมีอาการเพียงเล็กน้อยก็อย่าลืมรีบรักษา หรือป้องกันนะคะ เพราะโรคนี้สามารถส่งผลระยะยาวได้ในภายหลัง อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาและวิธีป้องกันให้ผลลัพธ์แตกต่างกันไปตามสภาพร่างกาย จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้อย่างละเอียดก่อนนะคะ